TTW ร่วมกับโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย มูลนิธิชัยพัฒนา และคณะสิ่งแวดล้อม ม.เกษตรศาสตร์ ดำเนินโครงการวิจัยการใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่าดินตะกอนจากโรงผลิตน้ำประปาบางเลน

21 October 2019

TTW ร่วมกับคณะวิจัยโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริภายใต้การกำกับดูแลของมูลนิธิชัยพัฒนา และภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินโครงการวิจัยการใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่าดินตะกอนจากโรงผลิตน้ำประปาบางเลน

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2562 คณะวิจัยโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริภายใต้การกำกับดูแลของมูลนิธิชัยพัฒนา และภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้นำเสนอรายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการวิจัยการใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่าดินตะกอนจากโรงผลิตน้ำประปาบางเลน ต่อคณะผู้บริหารของบริษัทฯ ซึ่งบริษัทฯได้สนับสนุนเงินอุดหนุนงานวิจัย จำนวน 2,352,940 บาท ใช้ระยะเวลาในการวิจัย 18 เดือน โดยมีงานวิจัยที่อยู่ภายใต้โครงการฯ ดังนี้

  1. สัดส่วนที่เหมาะสมของดินตะกอนโรงผลิตน้ำประปาต่อขยะอินทรีย์ในการปลูกข้าว พันธุ์ กข 41 และข้าวโพดฝักอ่อน

    ผลการวิจัย สัดส่วนการใช้ดินตะกอน ต่อ ขยะอินทรีย์ 1:2 ต่อน้ำหนัก โดยพบปริมาณธาตุอาหารหลักของพืช คือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปตัสเซียม (NPK) อยู่ในระดับหนึ่งแต่ยังไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์

  2. สัดส่วนที่เหมาะสมของปุ๋ยหมัก ต่อปุ๋ยเคมีในการปลูกข้าวพันธุ์ กข 41 และข้าวโพดฝักอ่อน

    ผลการวิจัย สัดส่วนการใช้ปุ๋ยหมักร่วมกับปุ๋ยเคมีในอัตราส่วน 3:1 ต่อน้ำหนัก ให้น้ำหนักผลผลิตข้าวต่อไร่สูงสุด ใกล้เคียงกับการใส่ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียว ทำให้สามารถลดต้นทุนในการใช้ปุ๋ยเคมี

  3. การใช้ดินตะกอนจากโรงผลิตน้ำประปาในการผลิตวัสดุก่อสร้าง

    ผลการวิจัย สัดส่วนดินตะกอนร่วมกับดินเหนียว 1:5 ต่อน้ำหนัก โดยอิฐมอญที่ได้มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก. 153-2540

  4. การใช้ดินตะกอนจากโรงผลิตน้ำประปาในการผลิตเชื้อเพลิงอัดแท่ง

    ผลการวิจัย สัดส่วนการใช้ดินตะกอนร่วมกับถ่านธูปฤาษี 1:4 ต่อน้ำหนัก โดยเชื้อเพลิงอัดแท่งที่ได้ให้พลังความร้อน 2,300แคลอรี่/กรัม แต่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเชื้อเพลิงเขียวที่มีค่าความร้อน 3,000 –5,000 แคลลอรี่/กรัม

  5. การประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ จากการใช้ประโยชน์ดินตะกอนโรงผลิตน้ำประปา

    ผลการวิจัย การนำตะกอนดินโรงผลิตน้ำประปาเป็นวัตถุดิบในการผลิต ปุ๋ยหมัก อิฐก่อสร้าง และ เชื้อเพลิงอัดแท่ง พบว่า การผลิตปุ๋ยหมัก และอิฐก่อสร้าง (อิฐมอญ) มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ทั้งทางตรงและทางอ้อม

  6. รูปแบบการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

    ผลการวิจัย ควรจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ในตำบลบางระกำ อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม โดยมีชาวบ้านหมู่ 8 และหมู่ 15 ให้ความสนใจอิฐบล็อกประสานและปุ๋ยอัดเม็ด เนื่องจากในอดีตเคยร่วมกันจัดตั้งกลุ่มชุมชนมาแล้ว ต่อมาภายหลังมีปัญหาการบริหารจัดการจึงได้ล้มเลิกไป

หลังจากนี้ บริษัท จะนำผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการวิจัย ได้แก่ ปุ๋ยหมัก เชื้อเพลิงอัดแท่ง และอิฐก่อสร้าง มาต่อยอดสร้างมูลค่าร่วมกันแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อันเป็นแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป