นโยบายการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม-มาตรฐานสากล
บริษัทฯ กำหนดนโยบายและโครงสร้างการบริหารความปลอดภัยอย่างชัดเจนสอดคล้องตามกฎหมาย โดยนำระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (OHSAS18001) มาใช้เป็นแนวปฏิบัติขั้นพื้นฐาน เพื่อช่วยพัฒนาให้พนักงานมีมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงาน
1. นโยบายคุณภาพ สิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะดำเนินงานระบบคุณภาพ สิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัย และความปลอดภัยในการทำงาน โดยเน้นการมีส่วนร่วมของบุคลากร เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังนี้
- ผลิตน้ำประปาที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของลูกค้า
- สร้างความพึงพอใจสูงสุดของลูกค้าโดยตรงและลูกค้าโดยอ้อม
- ปรับปรุงและพัฒนาความรู้และความสามารถ ทักษะ และความชำนาญให้กับพนักงานทุกคนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดจิตสำนึกในด้านคุณภาพ สิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัย และความปลอดภัย
- ปฏิบัติตามกฏหมายและข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องลักษณะปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยในการทำงานของบริษัทฯ
- ป้องกันมลพิษที่จะกระทบสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมของบริษัทฯ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งการใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด
- ป้องกันและลดอุบัติเหตุ อันตราย และความเจ็บป่วยจากการปฏิบัติงานของพนักงาน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากการดำเนินงานของบริษัทฯ
- เตรียมความพร้อมต่อเหตุการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นและดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่าเหตุการณ์เหล่านั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อบุคคลและทรัพย์สินทั้งภายในและภายนอกบริษัทฯ
2. เป้าหมายด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
- การเป็นองค์กรที่ปราศจากการบาดเจ็บและเจ็บป่วยจากการทำงาน (Injury & Illness Free Operation)
3. กลยุทธ์ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
- สร้างมาตรฐานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยให้แก่พนักงานทุกระดับ โดยผู้บริหารต้องเป็นผู้นำ
- เพิ่มศักยภาพและความตระหนักเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน
- สร้างความมีส่วนร่วมของพนักงานและคู่ธุรกิจ เพื่อปรับปรุงและแก้ไขการทำงานให้เกิดความปลอดภัย
วัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อม
วัตถุประสงค์สิ่งแวดล้อม | ความถี่ในการสรุปผล | ผู้รับผิดชอบ |
---|---|---|
1. การคัดแยกขยะตรงตามภาชนะที่กำหนดไม่น้อยกว่าร้อยละ 98 | 1 ครั้งต่อสัปดาห์ | MR, SITE |
2. ไม่มีการรั่วไหลของกากตะกอนดินออกสู่ชุมชนข้างเคียง | ทุก 6 เดือน | MR, PDT |
3. ไม่มีข้อร้องเรียนด้านสิ่งแวดล้อมจากชุมชนภายนอก | 1 ครั้งต่อปี | MR ส่วนโรงผลิตน้ำ |
4. ไม่มีสารหล่อลื่น หรือสารเคมีอันตรายหกรั่วไหล | 1 ครั้งต่อเดือน | MR, MNT, LWQ |
5. ผลการตรวจวัดสภาพแวดล้อมในการทำงาน หรือสิ่งแวดล้อมเป็นไปตามกฎหมาย | 1 ครั้งต่อ 6 เดือน | MR, Safety |
6. มีข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมี Safety Date Sheet (SDS) ครบทุกรายการของสารเคมีที่ใช้ | 1 ครั้งต่อ 6 เดือน | MR, แผนกจัดหา และ LWQ |
7. พนักงานสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยส่วนบุคคลตามลักษณะอันตรายทุกคน | 1 ครั้งต่อ 6 เดือน | MR, Safety |
การผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
บริษัทฯ ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและให้ความสำคัญต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมด้วยมาตรฐาน ISO 14001 และการนำกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้งาน คือ ระบบ Zero Discharge โดยนำตะกอนที่ได้จากการผลิตน้ำประปาไปรีดน้ำออกและนำกากตะกอนออกไปจากกระบวนการผลิต ส่วนน้ำที่ได้จากการรีดตะกอนจะถูกนำย้อนกลับเข้าไปในกระบวนการผลิตใหม่ ซึ่งเท่ากับว่าตลอดการผลิตนั้นไม่มีการปล่อยน้ำกลับลงสู่แหล่งน้ำดิบอีกเลย นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้สนับสนุนกิจกรรม Kaizen เพื่อปรับปรุงกระบวนการทางธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มีการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดการดำเนินงานอย่างชัดเจน เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบที่เกิดต่อสิ่งแวดล้อมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน
การใช้ทรัพยากร
การใช้น้ำแยกตามแหล่งที่มา
บริษัทฯ ผลิตและจำหน่ายน้ำประปาให้กับการประปาส่วนภูมิภาคในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม สมุทรสาคร และปทุมธานี โดยมีโรงผลิตน้ำประปาบางเลน จังหวัดนครปฐม และโรงผลิตน้ำประปาปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี เป็นสถานที่ผลิตน้ำประปาและใช้แหล่งน้ำผิวดินที่อยู่ใกล้เคียงเป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับกระบวนการผลิตน้ำประปา ได้แก่ แม่น้ำท่าจีน และ แม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีปริมาณการใช้น้ำจากแหล่งน้ำดังกล่าว ดังแสดงข้อมูลด้านล่าง
แหล่งน้ำ | 2560 | 2561 | 2562 | 2563 | หน่วย |
---|---|---|---|---|---|
แม่น้ำท่าจีน | 155.64 | 165.79 | 166.02 | 179.75 | ล้านลูกบาศก์เมตร |
แม่น้ำเจ้าพระยา | 147.96 | 159.77 | 161.48 | 161.00 | ล้านลูกบาศก์เมตร |
ปริมาณน้ำที่นำกลับมาใช้ใหม่
บริษัทฯ ออกแบบระบบการผลิตน้ำประปาให้มีการนำน้ำกลับมาใช้ในกระบวนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยยึดหลักการ Water Discharge Minimization ซึ่งจะไม่ปล่อยน้ำใดๆ ให้สูญเสียไม่ว่าจะเป็นน้ำที่แยกออกมาจากระบบกำจัดตะกอนหรือน้ำที่ผ่านกระบวนการล้างย้อนถังกรองทราย โดยมีการออกแบบระบบที่จะรวบรวมน้ำตะกอนที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตน้ำประปามาทำการแยกน้ำออกจากตะกอนเพื่อส่งกลับไปยังระบบผลิตน้ำประปาอีกครั้ง โดยมีขั้นตอนการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ ดังนี้
1. ถังควบคุมสมดุลตะกอน (Sludge Balancing Tank) ซึ่งทำหน้าที่รับน้ำตะกอน (Sludge) ที่เกิดจากระบบตกตะกอน (Clarifier) ตะกอนที่รวบรวมได้ภายในบ่อจะถูกสูบไปสู่ถังเพิ่มความข้นตะกอน (Sludge Thickener Tank)
2. ถังปรับปรุงน้ำล้างย้อน (Wash Water Tank) ทำหน้าที่รับน้ำและตะกอนที่ได้จากการล้างย้อน (Back Wash) ของระบบกรอง ส่วนนี้จะมีน้ำใสที่ถูกแยกออกจากตะกอนจะถูกสูบกลับเข้าสู่ระบบผลิตน้ำประปา เพื่อเป็นการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด เรียกว่า "Recovery Water” ส่วนตะกอนที่ข้นขึ้นจะถูกสูบผ่านเครื่องสูบตะกอนเข้าสู่ถังเพิ่มความข้นตะกอน (Sludge Thickener Tank)
3. ระบบรีดตะกอน (Sludge Dewatering) เป็นระบบขั้นสุดท้ายในการรีดน้ำออกจากตะกอน (Sludge) เพื่อทำให้ตะกอนมีความแห้งมากที่สุดอีกทั้งเป็นการนำน้ำที่รีดได้ (Recovery Water) กลับมาผลิตใหม่อีกครั้งเช่นเดียวกัน
บริษัทฯ ได้มีการนำน้ำที่ผ่านกระบวนการกลับมาใช้ใหม่
ดังแสดงข้อมูลด้านล่าง
น้ำกลับมาใช้ใหม่ | 2560 | 2561 | 2562 | 2563 | หน่วย |
---|---|---|---|---|---|
โรงผลิตน้ำประปาบางเลน และโรงผลิตน้ำประปากระทุ่มแบน | 2.32 | 1.82 | 1.78 | 3.68 | ล้านลูกบาศก์เมตร |
โรงผลิตน้ำประปาปทุมธานี | 8.14 | 3.33 | 4.76 | 3.69 | ล้านลูกบาศก์เมตร |
การจัดการของเสียและวัสดุเหลือใช้
กระบวนการหลักในการผลิตน้ำประปาของบริษัทฯ ประกอบด้วย กระบวนการสูบน้ำดิบ กระบวนการเติมสารเคมี กระบวนการตกตะกอน กระบวนการกรอง กระบวนการฆ่าเชื้อ และกระบวนการสูบส่ง ดังแสดงข้อมูลกระบวนการผลิตน้ำประปาตามแผนภาพด้านล่าง

จากแผนภาพข้างต้นจะเห็นว่าของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตน้ำประปาของบริษัทฯ จะมีเพียงตะกอน (Sludge) ที่ได้จากกระบวนการตกตะกอนและการล้างย้อนถังกรองทราย บริษัทฯ ได้มีการควบคุมดูแลและจัดการของเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตน้ำประปาอย่างเป็นระบบ ดังแสดงข้อมูลการจัดการของเสียในกระบวนการผลิตตามแผนภาพด้านล่าง
แผนภาพแสดงการจัดการของเสียในกระบวนการผลิต

ปริมาณตะกอนดินที่เกิดขึ้น (ลบ.ม. ต่อปี)
ปริมาณตะกอน | 2560 | 2561 | 2562 | 2563 | หน่วย |
---|---|---|---|---|---|
โรงผลิตน้ำประปาบางเลน และโรงผลิตน้ำประปากระทุ่มแบน | 7,627 | 10,943 | 13,683 | 18,677 | ตัน |
โรงผลิตน้ำประปาปทุมธานี | 22,552 | 21,360 | 11,838 | 9,909 | ตัน |
รวม | 30,179 | 32,303 | 25,521 | 28,586 | ตัน |
ปริมาณตะกอนที่นำไปใช้ในงานวิจัย | 0 | 0 | 10 | 10 | ตัน |
การนำของเสียมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์
บริษัทฯ ร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย (ศสอ.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำโครงการวิจัยตะกอนน้ำประปาเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ของโรงผลิตน้ำประปาปทุมธานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มมูลค่าของเสียที่เกิดจากการผลิตน้ำประปา ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในประเภทงานก่อสร้างและส่งเสริมด้านความรับผิดชอบต่อสังคม มีผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากงานวิจัย ได้แก่ สารดูดซับฟลูออไรด์ อิฐบล็อกประสาน กระเบื้องปูพื้น และกระเบื้องตกแต่งดินเผา บริษัทฯ จะนำผลิตภัณฑ์ที่ได้ไปทำการศึกษาความเป็นไปได้ทางด้านเศรษฐศาสตร์ (Prefeasibility) งานวิจัยนี้จะส่งผลให้บริษัทฯ ลดภาระในการกำจัดของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตน้ำประปา และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการวิจัยจะถูกนำมาสร้างประโยชน์ร่วมกันระหว่างบริษัทฯ และชุมชนต่อไป
นอกจากนี้ บริษัทฯ ร่วมกับ โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดทำโครงการวิจัยตะกอนน้ำประปาเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ของโรงผลิตน้ำประปาบางเลน วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิจัยตะกอนน้ำประปาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์พร้อมวางแผนโปรแกรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ
การจัดการพลังงานและคาร์บอนฟุตพริ้นท์
ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกอันเกิดจากสภาวะเรือนกระจก ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดํารงชีพของสิ่งมีชีวิต ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจ ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) สมัยที่ 21 (COP 21) โดยร่วมกับนานาประเทศในการดําเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้สามารถลดระดับความเข้มข้นของปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศให้อยู่ในระดับต่ำ (Low Emission) ตลอดจนเพิ่มศักยภาพในการปรับตัวให้มีภูมิต้านทานและความสามารถในการฟื้นตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate-Resilient Development) ที่จะทําให้เกิดการพัฒนาไปสู่สังคมเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Economy) และช่วยให้บรรลุผลสําเร็จตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals)
บริษัทฯ ใช้มาตรการในการดําเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยคํานึงถึงการดําเนินธุรกิจที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิเช่น ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการใช้กระแสไฟฟ้าจากภายนอก (ทางอ้อม) ซึ่งเป็นพลังงานหลักเพียงอย่างเดียวเพื่อนํามาใช้ผลิตน้ำประปาจนถึงกระบวนการจ่ายน้ำประปาให้กับผู้ใช้น้ำประปา โดยมีขอบเขตครอบคลุมโรงผลิตน้ำประปาทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ โรงผลิตน้ำประปาบางเลน จังหวัดนครปฐม โรงผลิตน้ำประปากระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร และโรงผลิตน้ำประปาปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ซึ่งได้แสดงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไว้ตามตารางดังนี้
ปริมาณตะกอน | 2560 | 2561 | 2562 | 2563 | หน่วย |
---|---|---|---|---|---|
โรงผลิตน้ำประปาบางเลน และโรงผลิตน้ำประปากระทุ่มแบน | 61,837 | 63,795 | 63,260 | 67,887 | ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า |
โรงผลิตน้ำประปาปทุมธานี | 42,112 | 44,231 | 44,663 | 44,026 | ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า |
รวม | 103,949 | 108,026 | 107,923 | 111,913 | ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า |
การปกป้องฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม
บริษัทฯ ไม่สามารถดําเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในอนาคตได้ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากชุมชนและหน่วยงานในพื้นที่ที่ผ่านมา บริษัทฯ เข้าไปมีส่วนร่วมในการวางแผนและจัดทําโครงการอนุรักษ์พลังงาน อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และดูแลสิ่งแวดล้อมกับหน่วยงานภายนอก ดังนี้
1. บริษัทฯ เข้าร่วมโครงการ Care the Bear ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการใช้ทรัพยากร และลดค่าใช้จ่ายจากการจัดงานอีเว้นท์ของบริษัทจดทะเบียน
2. บริษัทฯ ร่วมกับชมรมเรารักแม่น้ำท่าจีน จังหวัดนครปฐม โดยการเข้าร่วมประชุมประจําเดือนเพื่อรับทราบปัญหาและร่วมแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำท่าจีน เข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมจิตสํานึกด้านการประหยัดน้ำและการอนุรักษ์แหล่งน้ำในชุมชนอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี
3. บริษัทฯ ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย (ศสอ.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นําผลงานวิจัยตะกอน ได้แก่ “กระเบื้องดินเผา” นําไปตกแต่งอาคารเรียนแก่โรงเรียนวัดราษฎร์ธรรมาราม จังหวัดสมุทรสาคร และโรงเรียนวัดสุขวัฒนาราม จังหวัดนครปฐม
4. บริษัทฯ ร่วมกับคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดําริ นําผลงานวิจัยตะกอน ได้แก่ “ปุ๋ยหมัก” มาจัด ทําปุ๋ยหมักจากตะกอนผสมกับขยะสดภายในโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 4 จังหวัดนครปฐม
5. บริษัทฯ ประสานงานกับสํานักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ติดตามผลการเจริญเติบโตของต้นไม้ที่ปลูก ภายใต้โครงการ 1 ล้านกล้า สร้างป่าต้นน้ำ
6. บริษัทฯ สนับสนุนกิจกรรมสมุทรสาครร่วมใจ เก็บขยะทะเล ณ ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 (สมุทรสาคร)
7. บริษัทฯ สนับสนุนตะกอนจากโรงผลิตน้ำประปาบางเลนแก่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) เพื่อประโยชน์ด้านการวิจัยทดลอง
8. บริษัทฯ สนับสนุนการวิจัยทุนวิจัยตะกอนแก่นักศึกษาปริญญาตรีมหาวิทยาลัยมหิดล เรื่องการกําจัดความขุ่นในน้ำโดยใช้โปรตีนสกัดจากเมล็ดมะรุมเป็นสารตกตะกอน
9.บริษัทฯ สนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมการมีส่วนร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมของพนักงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้พนักงานตระหนักถึงความสําคัญของการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในองค์กร อาทิเช่น การจัดกิจกรรม Big Cleaning Day การคัดแยกขยะ และการทําปุ๋ยหมักจากตะกอนผสมกับขยะสดภายในสํานักงานใหญ่ โดยได้รับความร่วมมือจากพนักงานทุกระดับเข้าร่วมกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ
10.บริษัทฯ ให้ความสําคัญในการดําเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อกําหนดต่างๆ ที่ได้มีระบุไว้ในกฎหมายอย่างครบถ้วน