นายสมนึก ชัยเดชสุริยะ

ประธานคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงและบรรษัทภิบาล

เรียน ผู้ถือหุ้น
คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงและบรรษัทภิบาลของบริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ โดยมี นายสมนึก ชัยเดชสุริยะ เป็นประธานกรรมการบริหารความเสี่ยงและบรรษัทภิบาล นางพเยาว์ มริตตนะพร นายไพรัช เมฆอาภรณ์ นายฮิเดะโอะ มัทซึโมโตะ เป็นกรรมการบริหารความเสี่ยงและบรรษัทภิบาล และ นางสาววลัยณัฐ ตรีวิศวเวทย์ เป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงและบรรษัทภิบาล

ในปี 2565 คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงและบรรษัทภิบาล ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามขอบเขตความรับผิดชอบที่ระบุในกฎบัตรของคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงและบรรษัทภิบาล ตามที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท มีการประชุมรวม 4 ครั้ง ซึ่งได้รายงานผลการประชุมต่อคณะกรรมการบริษัท โดยมีการพิจารณาเรื่องสำคัญ สรุปได้ ดังนี้

ด้านบริหารความเสี่ยง

  1. พิจารณากำหนดนโยบายและแผนการบริหารความเสี่ยงประจำปีของบริษัท ซึ่งครอบคลุมถึงความเสี่ยงประเภทต่างๆ ทั้งที่มาจากปัจจัยภายในและภายนอกที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัท
  2. พิจารณาวางแผนกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับนโยบายการบริหารความเสี่ยง โดยสามารถประเมิน ตรวจติดตามและควบคุมความเสี่ยงของบริษัทโดยรวมให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้
  3. ตรวจติดตาม และควบคุมผลการบริหารความเสี่ยงเป็นรายไตรมาส โดยรับการรายงานจากฝ่ายบริหารของบริษัท และมีการรายผลการปฏิบัติงานด้านการบริหารความเสี่ยงต่อคณะกรรมการบริษัทเป็นรายไตรมาส

ด้านบรรษัทภิบาล

  1. กำกับดูแลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการชุดย่อย ตลอดจนฝ่ายบริหาร ให้เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการ จรรยาบรรณและจริยธรรมทางธุรกิจ ส่งเสริมให้กรรมการและผู้บริหารต้องมีการรายงานการซื้อ-ขาย และเปลี่ยนแปลงการถือครองหลักทรัพย์เป็นประจำทุกไตรมาส
  2. ทบทวนแนวปฏิบัติด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทโดยเทียบกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีตามมาตรฐานสากลและของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และนำเสนอคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันเพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทได้ปฏิบัติและเปิดเผยข้อมูลอย่างถูกต้อง
  3. รายงานผลการปฏิบัติงานด้านบรรษัทภิบาลและการกำกับดูแลกิจการต่อคณะกรรมการบริษัททุกไตรมาส

ด้านความยั่งยืน

  1. กำกับดูแลการปฏิบัติงานรวมถึงให้คำปรึกษาและข้อแนะนำในการดำเนินงานในมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการกำกับดูแลกิจการ เพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
  2. ติดตามผลการดำเนินงานเทียบกับตัวชี้วัดต่างๆ และให้คำปรึกษาด้านการรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน
  3. รายงานผลการปฏิบัติงานด้านความยั่งยืนต่อคณะกรรมการบริษัททุกไตรมาส