การบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจร
แผนผังกระบวนการผลิตน้ำประปา นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน
นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน

บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการเข้าซื้อสิทธิในการผลิตน้ำประปา และบำบัดน้ำเสียในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน (BIE) จังหวัดพระนครศรีอยุธยาจาก บริษัท ที่ดินบางปะอิน จำกัด เป็นระยะเวลา 30 ปีนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2552 โดยระบบผลิตน้ำประปานิคมอุตสาหกรรมบางปะอินเป็นระบบผลิตน้ำประปาจากแหล่งน้ำผิวดิน มีกำลังการผลิตน้ำประปาสูงสุด 48,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยรับน้ำดิบจากแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันมีกำลังการผลิตน้ำเฉลี่ย 24,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน

แผนผังระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลาง นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน

ระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลางของนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน เป็นระบบบำบัดแบบตะกอนเร่ง (Activated Sludge) มีกำลังการบำบัดน้ำเสียสูงสุด 18,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ปัจจุบันน้ำเสียเกิดขึ้นรวม 14,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดแล้วจะถูกเก็บกักไว้ในบ่อพักน้ำทิ้งขนาด 18,000 ลูกบาศก์เมตร (ระยะเวลากักเก็บ 1 วัน) ก่อนระบายลงสู่คูระบายน้ำของนิคมฯ เพื่อรองรับการนำกลับมาใช้ใหม่ ก่อนระบายส่วนที่เหลือลงสู่แหล่งน้ำบริเวณใกล้เคียงต่อไป

น้ำเสียจากโรงงานจะระบายเข้าสู่ระบบท่อรวบรวมน้ำเสียและไหลไปรวมกันที่ Lift Station จำนวน 4 จุด ที่ติดตั้งปั๊มสูบน้ำเสียชนิดจุ่มใต้น้ำ (Submersible Pump) ที่ทำงานแบบอัตโนมัติเพื่อสูบน้ำเสียไปยังระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลาง โดยระบบรวบรวมน้ำเสียจะต้องแยกจากระบบระบายน้ำฝนโดยเด็ดขาด โดยขั้นตอนการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสียประกอบไปด้วย

1. บ่อรวบรวมน้ำเสีย (Sewage Tank)

น้ำเสียจาก Lift Station ทั้ง 4 จุด จะถูกสูบมารวมกันที่ Sewage Tank ของระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลาง ที่มีการติดตั้งปั๊มสูบน้ำเสียชนิดจุ่มใต้น้ำ (Submersible Pump) จำนวน 3 ชุด เป็นเครื่องสำรอง 1 ชุด ซึ่งทำงานแบบอัตโนมัติทำหน้าที่สูบน้ำเสียไปยังบ่อดักกรวดทราย

2. บ่อดักกรวดทราย (Grit Chamber)

บ่อดักกรวดทราย จะทำหน้าที่แยกกรวด/ทรายที่ปะปนมากับน้ำเสีย โดยควบคุมความเร็วอัตราการไหลของน้ำให้มีค่าประมาณ 0.3 เมตรต่อนาที กรวดทรายจะตกตะกอนอยู่ก้นบ่อ และจะถูกสูบไปที่ลานตากต่อไป ส่วนน้ำใสจะไหลไปยังบ่อปรับเสถียร

3. บ่อปรับเสถียร (Equalization Tank)

บ่อปรับเสถียร จะทำหน้าที่ลดความแปรปรวนและปรับคุณสมบัติของน้ำเสีย โดยมีเวลาเก็บกักประมาณ 8-9 ชั่วโมง (ปริมาตรถัง 7,000 ลบ.ม.) และในบ่อจะติดตั้งปั๊มสูบน้ำเสียชนิดจุ่มใต้น้ำ (Submersible Pump) ขนาด 5.9 kW จำนวน 6 ชุด และ ขนาด 7.5 kW จำนวน 3 ชุด รวมทั้งหมด 9 ชุดทำงานแบบ Manual เพื่อสูบน้ำเสียไปขั้นตอนต่อไป

4. บ่อปรับค่ากรด-ด่างน้ำเสีย (Neutralization Tank)

ทำหน้าที่ปรับค่าความเป็นกรด-ด่ำง (pH) ของน้ำเสียให้มีค่าเป็นกลาง โดยการเติมกรด กรณีที่น้ำเสียมีค่าเป็นด่าง หรือเติมด่าง กรณีน้ำเสียมีค่าเป็นกรด พร้อมทั้งเติมสารอาหารที่จำเป็นเพื่อให้เหมาะสมสำหรับระบบบำบัดน้ำเสียแบบตะกอนเร่ง ภายในบ่อปรับสภาพจะติดตั้งเครื่องกวนน้ำเสีย จำนวน 2 ชุด และชุดวัดและควบคุมค่า pH เพื่อควบคุมการจ่ายสารเคมีสำหรับปรับค่า pH (ปัจจุบันยกเลิกการใช้งานเนื่องจากน้ำเสียมีค่าเป็นกลางและมีสารอาหารเพียงพอ)

5. บ่อเติมอากาศ (Aeration Tank)

น้ำเสียจากบ่อปรับค่ากรด-ด่างจะถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนเท่าๆ กัน จากนั้นจึงไหลเข้าบ่อเติมอากาศ (Aeration Tank) ทั้ง 2 เฟส บำบัดน้ำเสียโดยการเติมอากาศ (ออกซิเจน) ลงไปในน้ำเสียเพื่อให้เชื้อจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในน้ำเสียทั้งในรูปของสารละลายและตะกอนแขวนลอยย่อยสลายสารอินทรีย์ที่อยู่ในน้ำเสีย น้ำใสไหลผ่านฝายและไหลไปตกตะกอนที่บ่อตกตะกอน (Sedimentation Tank) โดยมีปริมาตร 4,500 ลูกบาศก์เมตรต่อบ่อ (รวม 9,000 ลบ.ม.) มีระยะเวลากักเก็บประมาณ 12 ชั่วโมง อายุของตะกอน 15 วัน F/M = 0.35 ติดตั้งเครื่องเป่าอากาศ (Air Blower) จำนวน 2 ตัวต่อเฟส และใช้หัวจ่ายอากาศฟองแบบละเอียด (Fine Bubble) เพื่อเพิ่มและควบคุมปริมาณออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำ)

6. บ่อตกตะกอน (Sedimentation Tank)

เพื่อแยกน้ำใสออกจากจุลินทรีย์ น้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจะไหลล้นฝายเข้าท่อรวบรวมปลายบ่อเติมอากาศทั้ง 2 เฟส เข้าบ่อตกตะกอนจำนวน 4 บ่อ ปริมาตรรวม 3,000 ลบ.ม. ส่วนตะกอนที่อยู่ก้นบ่อจะสูบกลับไปเติมในบ่อเติมอากาศเพื่อย่อยสลายอินทรีย์ที่เข้ามาใหม่ โดยมีการติดตั้งเครื่องสูบตะกอนเวียนกลับให้ทำงานตามเวลาที่ตั้งไว้ตามที่กำหนด และตะกอนส่วนเกินจะถูกสูบไปที่ถังทำข้นเพื่อกำจัดทิ้งต่อไป

7. บ่อพักน้ำใส (Polishing Pond)

บ่อพักน้ำใส มีปริมาตรประมาณ 12,000 ลบ.ม. เวลากักประมาณ 16 ชั่วโมง ทำหน้าที่พักน้ำเสียที่บำบัดแล้วก่อนปล่อยทิ้งลงคลองรอบๆ นิคมฯ โดยในบ่อมีการติดตั้งเครื่องเติมอากาศแบบ Jet aerator จำนวน 6 ตัว เพื่อเพิ่มค่าออกซิเจนละลาย (DO) ในน้ำ

8. ถังทำข้นตะกอน (Thickener Tank)

ตะกอนจุลินทรีย์ส่วนเกินของระบบบำบัดน้ำเสีย ทั้งจากบ่อเติมอากาศและบ่อตกตะกอน จะถูกสูบไปยังบ่อเพิ่มความเข้มข้นตะกอน (Gravity Sludge Thickener) เพื่อเพิ่มความเข้มข้นของตะกอนให้มีค่าไม่น้อยกว่า 2% เพื่อนำกลับมำใช้ในบ่อเติมอากาศ หรือสูบส่งไปยังลานตากตะกอนเพื่อแยกส่วนตะกอนและน้ำใสออกจากกัน

9. ลานตากตะกอน (Drying Bed)

ทำหน้าที่ตากตะกอนที่สูบกลับมาจาก Thickener Tank ให้แห้งก่อนนำตะกอนแห้งไปกำจัด กากตะกอนที่แห้งแล้วจะถูกนำไปฝังกลบอย่างถูกสุขลักษณะตามกฏหมายหนด ลานตากตะกอนมีจำนวน 17 บ่อ แต่ละบ่อสามารถรับตะกอนได้ประมาณ 50-60 ลบ.ม. ใช้เวลาในการตากจนตะกอนแห้งประมาณ 15 วัน