ข่าวจากสื่อ

น้ำประปาดื่มไม่ได้ ?

23 มิถุนายน 2551

การประปาฯ นำน้ำมากลั่น-กรอง ขั้นตอนสุดท้ายคือเติมคลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโรค แต่คลอรีนมีสารก่อมะเร็ง !!?

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : ผศ.ดร.บุณยฤทธิ์ ปัญญาภิญโญผล หรือ ดร.กอล์ฟ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาสิ่งแวดล้อมและประชาสัมพันธ์ ภาควิชาวิศวกรรมสุขาภิบาล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับน้ำประปา น้ำเสีย ขยะ อากาศเป็นพิษฯลฯ มาตรฐานของน้ำที่ควรบริโภค แม้แต่น้ำบาดาลยังต้องเช็คคุณภาพว่าบริโภคได้หรือไม่ อาจจะมีสารปนเปื้อน เนื่องจากการทิ้งวัตถุเคมี ลงไปในดิน เช่นฝังขยะมีพิษเช่นถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ หลอดฟลูออเรสเซนต์ ที่มีสารปลอด เมื่อฝนตก สารเหล่านี้ไหลลงสู่ใต้ดิน ในที่สุดก็ย้อนกลับมาเป็นอันตรายต่อตัวมนุษย์เอง เพราะสสารไม่มีวันสูญสลายไปจากโลก ยังคงวนเวียนสะสมนับวันจะยิ่งทวีคูณ

'การวัดมาตรฐานน้ำส่วนใหญ่เราจะใช้มาตรฐานเดียวกับสหรัฐอเมริกา อย่างน้ำผิวดิน ก็ต้องมีมาตรฐานเหมือนกัน ปริมาณสารอินทรีย์ สารแขวนลอย โลหะหนักต่างๆ เช่นยาฆ่าแมลง สารก่อมะเร็งบางตัวก็มีกำหนดไว้ น้ำผิวดินเช่นน้ำในแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน จนถึงเจ้าพระยา คุณภาพจะลดลงเรื่อยๆ จากต้นน้ำผ่านการถูกทำให้สกปรก 'เช่น ชาวบ้านทำความสกปรกอะไรไว้ก็ตาม สุดท้ายก็ต้องไหลลงแม่น้ำ ระบบป้องกันน้ำเสียไม่มี ทิ้งน้ำเสียลงแม่น้ำก็ยิ่งทำให้เกิดการเน่าเสีย ทิ้งสิ่งสกปรกลงแม่น้ำเกินที่แม่น้ำจะรับได้ก็ทำให้เกิดน้ำเน่าปลาตายอย่างที่เคยเห็น' ชุมชนเมืองส่วนใหญ่มีน้ำประปาใช้ มีโครงการน้ำประปาดื่มได้ เนื่องจากการประปามีการตรวจวัดคุณภาพน้ำอยู่เสมอ

'งานวิจัยที่ผมทำอยู่ในตอนนี้ก็คือ สารก่อมะเร็งที่เกิดในน้ำประปา มีมากน้อยแค่ไหน อย่างไร เราควรจะจัดการระบบน้ำเสียอย่างไร เพื่อให้สารตัวนี้มีโอกาสเกิดน้อยที่สุด ถามว่าน้ำประปามีสารก่อมะเร็งไหม ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีข่าวว่ามี คำว่ามีก็คือต้องถามว่า มีเยอะแค่ไหน บ้านเรายังไม่มีตัวเลขที่เป็นมาตรฐานตรงนี้ 'แต่ที่อเมริกามีแล้วเขากำหนดไว้ว่าปริมาณสารก่อมะเร็ง ไตรฮาโลมีเทน (Trihalomethanes) ต้องไม่เกิน 80 ไมโครกรัมต่อลิตร ก็คือน้อยมากๆ อย่างเนื้อหมูเราชั่งกันเป็นกิโลกรัม แปลว่ามี 1,000 กรัม ไมโครกรัมหมายถึง 10 กำลัง ลบ 6 ของกรัม น้อยมากๆ การประปาที่บางเขนเขาก็มีการตรวจวัดค่าตรงนี้อยู่เรื่อยๆ'

การประปานำน้ำทั่วไปมากลั่นกรองเอาความขุ่น ความสกปรกออก ขั้นตอนสุดท้ายก่อนมาถึงผู้บริโภคมีการเติมคลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโรค แต่คลอรีนก็คือสารอินทรีย์ และสารอินทรีย์บางตัวเป็นสารก่อมะเร็ง

'ถ้าเทียบมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกแล้วน้ำประปาที่เราใช้กันก็เรียกว่าผ่านมาตรฐานแต่คนก็จะรู้สึกรังเกียจกลิ่นของคลอรีน จะถามว่าทำไมต้องใช้คลอรีน เพราะเป็นข้อจำกัดของท่อประปาบ้านเรา ซึ่งมีอายุเยอะมีการแตก รั่ว ซึม เหตุผลก็คือ คลอรีนสามารถอยู่ในน้ำได้นาน ถามว่าฆ่าด้วยวิธีอื่นได้ไหม อย่างเมืองนอกเขาอาจจะใช้โอโซนฆ่าเชื้อโรค น้ำที่วิ่งในท่อก็จะไม่มีเชื้อโรคแล้ว ในขณะที่คลอรีนยังอยู่เราเปิดมาใช้ได้กลิ่นก็แสดงว่าในน้ำไม่มีเชื้อโรคแล้ว'

น้ำประปาบ้านเราดื่มได้จริงหรือ ?

ดร.กอล์ฟ อธิบายว่า น้ำประปาที่ออกจากโรงน้ำประปาจะมีปริมาณคลอรีนเยอะกว่าปลายทางเพราะต้องคำนวณระยะทางที่น้ำประปาต้องไปถึง ดังนั้นประชาชนไม่ต้องกังวลว่าคลอรีนจะเป็นอันตรายเมื่อดื่มกินและใช้ เนื่องจากปริมาณคลอรีนเหล่านั้นค่อนข้างผ่านมาตรฐาน 'คนส่วนใหญ่มักไม่ชอบกลิ่นของคลอรีน ก็เลยติดเครื่องกรองน้ำ เพื่อความมั่นใจ จะมีถ่านกรอง ถ่านที่จะกรองได้ดีเรียกว่าถ่านกัมมันต์ ศัพท์ทางวิชาการเรียกว่า Activated Carbon ทำหน้าที่จับสารละลายที่มี กลิ่นสี เอาไว้ได้ น้ำดื่มบรรจุขวดที่เราดื่มก็มาจากน้ำประปา ที่กรองด้วยถ่านตัวนี้' สรุปแล้วก็คือ น้ำประปาที่มีคลอรีนนั้นอาจมีสารก่อมะเร็งปนเปื้อน ทว่าอยู่ในปริมาณที่น้อยมาก หากมนุษย์คนหนึ่งจะเป็นโรคมะเร็ง ไม่ได้เกิดจากการดื่มน้ำประปาอย่างแน่นอน เนื่องจากในสภาพแวดล้อมปัจจุบันหลายๆ ด้านล้วน มีส่วนให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งมากกว่า ส่วนใหญ่ปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้นมาจากอาหาร เช่นผักผลไม้ที่มียาฆ่าแมลง อ่านหนังสือพิมพ์มือเปื้อนหมึก หยิบอาหารใส่ปาก อาหารทอดที่ใช้น้ำมันทอดหลายรอบฝุ่นควันท่อไอเสีย ฯลฯ ในน้ำ 1 แก้วมีอะไรหลายๆ อย่างที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ทั้งสารก่อมะเร็ง ยาฆ่าแมลง โลหะหนักต่างๆ เช่นโครเมียมกับ สารตะกั่ว สารปลอด หากรับตะกั่วมากๆ มีผลต่อระบบประสาท สมอง ระบบกรองน้ำมีหลายแบบ กรองแล้วไม่เหลืออะไรเลย อย่าง RO หรือ Reverse Osmosis เหลือแร่ธาตุน้อยมาก เครื่องกรองที่มีสองถังอย่างที่เห็นทั่วไปเป็นแบบ คาร์บอนเรซิ่น ทำหน้าที่กรองตะกอน ฯลฯ หรือถ้าใครกล้าพอที่จะบริโภคน้ำประปาที่หอมกรุ่นกลิ่นคลอรีน ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่อะไร เพราะสารก่อมะเร็งหลักๆ ไม่ได้อยู่ที่นั่น

น้ำประปาปลอดภัยพอ ?

การฆ่าเชื้อโรคในน้ำประปามีหลายวิธี ได้แก่ การใช้แสงอัลตราไวโอเลต การใช้โอโซน หรือการใช้สารเคมีในการฆ่าเชื้อโรค และการใช้ ‘คลอรีน' ฆ่าเชื้อโรคในน้ำประปาเป็นที่นิยมใช้กันแพร่หลาย สำหรับระบบประปาทั่วโลก การผลิตน้ำประปาในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน เนื่องจากคลอรีนมีราคาไม่แพง หาได้ง่าย กำจัดสิ่งสกปรกในระบบผลิตและยังช่วยป้องกันเชื้อโรคที่อาจปะปนอยู่ในถังเก็บและระบบท่อจ่ายน้ำอีกด้วย ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์

องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดคลอรีนอิสระคงเหลือในน้ำประปาไว้ ไม่ต่ำหว่า 0.2 มิลลิกรัมต่อลิตร และสูงสุดไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร

หากใครดื่มน้ำประปา ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ผู้บริโภคจะต้องดื่มน้ำนานถึง 252 ปี ถึงจะเข้าขั้น 'เสี่ยง' ต่อการเป็นโรคมะเร็ง

จิตรสุภา ไตรธรรม ผู้อำนวยการกองควบคุมคุณภาพน้ำ การประปานครหลวง ยืนยันว่า 'กลิ่น' ของคลอรีนไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ 'กลิ่นของคลลอรีนก็ไม่มีปัญหา ถ้าใครรังเกียจกลิ่นก็เปิดน้ำทิ้งไว้ในภาชนะสองสามชั่วโมง กลิ่นก็ระเหยออกไปหมดแล้ว ปริมาณคลอรีนที่เราใส่ลงไป ต้นทางโรงงานผลิตใส่ประมาณ 1.5 -2 ออกจากโรงงานผลิต 30 นาทีก็กลายเป็นคลอรีนคงเหลือ ต้นทางบ้านแรกที่ได้รับน้ำประปาจะเหลือคลอรีนประมาณ 0.2 -0.3 กลิ่นอาจจะแรงกว่าปลายทาง 'แต่เราจะคำนึงถึงปลายทางเมื่อไปถึงแล้วน้ำยังคงสะอาดปราศจากเชื้อโรค แต่ต้นทางได้รับคลอรีนที่ยังอยู่ในระดับมาตรฐาน ความจริงเรื่องของคลอรีนน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าโทษ'

คลอรีนฆ่าเชื้อโรค แต่ยังก่อมะเร็ง ข้อมูลจากหนังสือ น้ำดื่มในอุดมคติ (Water for Life) ของ ศ.ดร.นพ.สมศักดิ์ วรคามิน เขียนไว้ในหน้า 35 หัวข้อ น้ำประปา : น้ำประปาใช้คลอรีนฆ่าเชื้อโรค จับความได้ว่า คลอรีนราคาถูก ใช้ง่าย ทำลายเชื้อแบคทีเรียได้แน่นอน แต่การที่คลอรีนในน้ำดื่ม สามารถทำลายเชื้อโรคได้ ก็สามารถทำลายแบคทีเรียที่มีประโยชน์ในลำไส้ รวมทั้งเซลล์ปกติของร่างกายได้ด้วยเช่นกัน คลอรีนจะทำให้เกิดสารพิษ ซึ่งเกิดจากทำปฏิกิริยากับสารอินทรีย์ในธรรมชาติที่ละลายอยู่ในน้ำ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในสหรัฐอเมริการายงานว่า ผู้หญิงที่ดื่มน้ำที่มีคลอรีนเป็นประจำ มีอัตราการเกิดมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร หรือระบบปัสสาวะ สูงกว่าผู้หญิงที่ดื่มน้ำปราศจากคลอรีนถึง 44 % และยังพบว่า การดื่มน้ำที่มีคลอรีนจะสัมพันธ์กับการเกิดโรคความดันโลหิตสูง และโรคโลหิตจาง ซึ่งการเกิดโรคโลหิตจางนี้เนื่องมาจากผลร้ายของคลอรีนต่อเม็ดเลือดแดง (Red Blood Cell) นอกจากนั้นคลอรีนยังเป็นตัวก่อมะเร็งในลำไส้ใหญ่ หรือมะเร็งที่กระเพาะปัสสาวะสูงกว่าผู้ที่ดื่มน้ำปราศจากคลอรีน

น้ำดิบในธรรมชาติ นับวันแสนอันตราย

นอกจากขยะมีพิษที่คนเราช่วยกันทิ้งขว้างคนละไม้คนละมือ ยังมีสารเคมีจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยของเสียออกมาปะปนกับแหล่งน้ำดิบ เป็นปัญหาของทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น อย่างในประเทศอเมริกา พบว่าประชาชนที่อยู่ตอนล่างของแม่น้ำมิสซิสซิปปี ไหลผ่านโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่อยู่ทางตอนเหนือลงมา มีอัตราเป็นมะเร็งสูงกว่าประชาชนที่อยู่ต้นน้ำตอนบน เหนือโรงงานขึ้นไป และปัญหาสารเคมีจากโรงงานนี้น่าสะพรึงกลัวมากสำหรับประเทศเรา หากมีโรงงานอุตสาหกรรมไปตั้งอยู่ทางตอนบนของแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น คนกรุงเทพฯคงได้ดื่มน้ำที่มีสารเคมีเจือปนแน่นอนอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง ในอีก 5 ปีข้างหน้า และสารเคมีในน้ำนั้นควบคุมยาก และมีอันตรายสูง และยากต่อการตรวจพบ เนื่องจากวิธีวิเคราะห์หาสารเคมีแต่ละอย่างนั้นซับซ้อนมาก ถ้าไม่รู้วิธีวิเคราะห์หรือถึงรู้แต่ไม่มีปัญญาซื้อเครื่องมือแพงๆ ก็ไม่อาจทราบได้ว่ามีสารเคมีชนิดใดปนเปื้อนมากับน้ำ และส่วนใหญ่ไม่ทำให้น้ำดื่มมีรสผิดปกติจนสังเกตได้ ผู้ที่ดื่มน้ำมีสารปนเปื้อนอาจรู้สึกเพียงปวดหัว เป็นผื่นโดยไม่ทราบสาเหตุ และไม่มีใครจะนึกถึงว่าเกิดจากการดื่มน้ำ

อันตรายมากที่สุดก็คือก่อให้เกิดโรคมะเร็ง คลอดลูกออกมาพิการ ร่างกายเจริญเติบโตผิดปกติ เป็นหมัน เป็นต้น ยาฆ่าแมลงชื่อ Endrin เพียงน้ำหนัก 1 ปอนด์ (ประมาณครึ่งกิโลกรัม) ก็สามารถทำให้น้ำปนเปื้อนจนเกินมาตรฐานการใช้ดื่ม และอาจจะถึงระดับเป็นพิษ (Toxic Level) ได้ถึง 5,000 ล้านแกลลอนทีเดียว สิ่งเหล่านี้จึงทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกาหวาดกลัวสงครามสารเคมีมาก เพราะการหิ้ว Endrin เพียง 1 ปอนด์ เพื่อจะก่อการร้าย จะคุมไม่ได้เลย ส่วนคุณและโทษของคลอรีนนั้น คลอรีนเคยจัดว่าเป็นอาวุธมหาประลัยในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทำให้ผู้คนเสียชีวิต หรือพิการจำนวนมากมายหลายล้านคน ในปี พ.ศ. 2453 เริ่มมีการใช้ผงคลอรีนใส่ในน้ำเพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ ทำให้การตายด้วยโรคระบาดอันเกิดจากน้ำลดลงอย่างรวดเร็วแต่คลอรีนที่ตกค้างในน้ำดื่ม รวมทั้งคลอรีนที่ทำปฏิกิริยากับสารอินทรีย์ในน้ำจนเกิดสารมีพิษชื่อ Trihalomethane ซึ่งอาจก่อมะเร็งในระยะยาว ทำให้เกิดการตายโดยยังไม่ถึงเวลาอันควร เช่น การเกิดมะเร็งในลำไส้ใหญ่ มะเร็งในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกมีผู้ป่วยจำนวนหลายร้อยล้านคน ซึ่งน่าจะมาสาเหตุนี้ ส่วนปัญหาที่ว่า คลอรีนในน้ำดื่มมีอันตรายไหมนั้น ยอมรับว่าน้ำที่เราดื่มกินอยู่ทุกวันนี้อาจจะมีสิ่งปนเปื้อนมากกว่า 2,100 ชนิด หลากหลายชนิดมีอันตรายต่อสุขภาพของผู้ดื่ม

นักวิจัยพบว่า แม้ขั้วโลกเหนือก็ยังพบสารตกค้างของยาฆ่าแมลงประเภทดีดีที ซึ่งเป็นยาฆ่าแมลงที่ประเทศพัฒนาแล้วเลิกใช้นานแล้ว สามารถพบได้ในก้อนน้ำแข็งและหิมะที่ขั้วโลกเหนือ แต่เราไม่ควรวิตกกังวลกับเรื่องนี้มากจนเกินไป ตราบใดที่เรายังมีเครื่องกรองน้ำใช้ สามารถช่วยได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งมีหลากหลายแบบให้เลือกใช้ และคลอรีนในน้ำประปา ที่องค์การอนามัยโลกรับรองแล้ว ไม่น่าจะทำให้ผู้ดื่มกินบ้านเรา ต้องวิตกกังวลมากเกินไป !!!

 

ที่มา : ปฏิทินข่าวรายวันปีที่ 3 ฉบับที่ 67 วันจันทร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2551